25.11.59

คอมพิวเตอร์ช่วยสอน (CAI)

คอมพิวเตอร์ช่วยสอน หรือ CAI ย่อมาจากคำว่า Computer-Assisted หรือ Aided Instruction หมายถึง สื่อการเรียนการสอนทางคอมพิวเตอร์รูปแบบหนึ่ง ซึ่งใช้คอมพิวเตอร์ในการนำเสนอสื่อประสม ได้แก่ ข้อความ ภาพนิ่ง กราฟิก แผนภูมิ กราฟ วิดีทัศน์ ภาพเคลื่อนไหว และเสียง เพื่อถ่ายทอดเนื้อหาบทเรียน หรือองค์ความรู้ในลักษณะที่ใกล้เคียงกับการสอนจริงในห้องเรียนมากที่สุด


ต้วอย่างการใช้คอมพิวเตอร์ช่วยสอน (CAI) วิชาภาษาอังกฤษ




ประเภทของบทเรียนคอมพิวเตอร์ (CAI)

1. ประเภทการสอน (Tutorial) เป็นแบบผู้ช่วยสอน คอมพิวเตอร์จะทำหน้าที่สอน โดยนำเสนอเนื้อหาให้ผู้เรียนได้ศึกษา ต่อจากนั้นจะมีการตั้งคำถามให้ผู้เรียนตอบ หากตอบไม่ได้จะได้รับคำแนะนำเนื้อหานั้นใหม่และให้ตอบคำถามใหม่จนกว่าจะเข้าใจ โปรแกรมจะเสนอบทเรียนใหม่และเน้นให้ผู้เรียนเกิดความรู้ความเข้าใจ ซึ่งคำตอบอาจตอบได้หลายวิธี เป็นประเภท CAI ที่นิยมใช้กันมากที่สุด

2. ประเภทฝึกหัดและปฏิบัติ (Drill and Practice) เป็นการให้ผู้เรียนได้ทำแบบฝึกหัดหลังจากที่ได้เรียนเนื้อหานั้น แล้ว หรือมีการฝึกซ้ำๆ เพื่อให้เกิดทักษะหรือเป็นการแก้ปัญหาแบบท่องจำ เช่น การฝึกท่องจำคำศัพท์ ฝึกบวก ลบ คูณ หาร เป็นต้น

3. ประเภทสถานการณ์จำลอง (Simulation) CAI แบบนี้ออกแบบเพื่อสอนเนื้อหาใหม่และทบทวนหรือเสริมในสิ่งที่ได้เรียนหรือทดลองไปแล้ว โดยใช้สถานการณ์จำลองเป็นการเลียนแบบหรือจำลองเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตามความจริงหรือตามธรรมชาติ

4. ประเภทเกม (Game) เป็นการเรียนรู้จากการเล่น อาจจะเป็นประเภทให้แข่งขันเพื่อไปสู่ชัยชนะ หรือเป็นประเภทเกมความร่วมมือ คือ เล่นเป็นทีมเพื่อฝึกการทำงานเป็นทีม อาจใช้เกมในการสอนคำศัพท์ เกมการคิดคำนวณ หรือเกมจับผิด เป็นต้น

5. ประเภทการทดลอง (Tests) เพื่อทดสอบผู้เรียนโดยตรงหลังจากที่ได้เรียนเนื้อหาหรือฝึกปฏิบัติได้แล้ว โดยผู้เรียนจะทำแบบทดสอบผ่านคอมพิวเตอร์ ซึ่งเมื่อคอมพิวเตอร์รับคำตอบแล้วก็จะบันทึกผล ประมวลผลตรวจให้คะแนนและเสนอผลให้ผู้เรียนทราบทันทีที่ทำข้อสอบเสร็จ

         บทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอน (CAI) กำลังเป็นที่นิยมกันอย่างแพร่หลายในปัจจุบันในการที่จะให้เด็กได้เรียนรู้ ดังนั้น ก่อนที่จะนำสื่อไปทำการเผยแพร่ จึงจำเป็นที่จะต้องทำการหาประสิทธิภาพของ CAI เพื่อที่จะได้รู้ว่าสื่อที่ทำออกมานั้น มีประสิทธิภาพเพียงพอ ซึ่งเครื่องมือที่ใช้วัดผลและประเมินผลการเรียนรู้ จะต้องตรวจสอบและวิเคราะห์ หาค่าคุณภาพเครื่องมือก่อนทุกครั้งเพื่อให้แน่ใจว่า เครื่องมือนั้น มีเกณฑ์ มาตรฐานได้ ผลการวัดที่ถูกต้องและเชื่อถือได้ ถ้าปรากฏว่า ค่าคุณภาพ ด้านต่างๆ ที่วิเคราะห์ไม่ได้ตามเกณฑ์ที่กําหนดไว้ ต้องปรับปรุงแก้ไขและนําไปทดลองใหม่จนแน่ใจว่าได้ค่าคุณภาพตามเกณฑ์ที่กําหนด ในการวัดผลการเรียนรู้ ผู้สอนต้องมีความแน่ใจว่าเครื่องมือที่วัดนั้น มีคุณภาพดีพอก่อนนําไปใช้ได้จริง

ลักษณะของเครื่องมือวัดผลการเรียนรู้ที่ดีควรมีลักษณะดังนี้ 

1. มีความเที่ยงตรง (validity) ดัชนีค่าความสอดคล้อง (IOC) แต่ละข้อต้องมีค่ามากกว่า 0.5 ซึ่งหมายถึง วัดได้ตรงตามจุดประสงค์ของการวัด

2. มีความเชื่อมั่น (Reliability) ของแบบทดสอบ ทั้งฉบับมีค่าไม่ต่ำกว่า 0.7 ซึ่งแสดงว่า เครื่องมือวัดให้ผลการวัดที่สม่ำเสมอ แน่นอน คงที่

3. มีความเป็นปรนัย หมายถึง เครื่องมือวัดที่มีข้อความชัดเจน การตรวจให้คะแนนมีมาตรฐานสามารถแปลความหมายพฤติกรรมได้ตรงกัน ไม่ว่าใครจะเป็นผู้วัดหรือผู้ตรวจ

4. มีค่าความยาก ระหว่าง 0.2 - 0.8 (ไม่ควรยากเกินไปและไม่ง่ายเกินไป)

5. มีค่าอํานาจจําแนก ระหว่าง 0.2 - 1.0 (ค่ายิ่งมากยิ่งดี ค่าที่คํานวณได้ จะอยู่ระหว่าง -1 ถึง 1)

  •  การประเมินบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอน ดังนี้
ด้านเนื้อหา (content)
ด้านการออกแบบระบบการเรียนการสอน (Instructional System Design)
ด้านการออกแบบหน้าจอ (Screen Design)


ประโยชน์ของคอมพิวเตอร์ช่วยสอน

1. ส่งเสริมให้ผู้เรียนสามารถเรียนรู้ได้ตามความสามารถและความสนใจของตนเอง
2. ผู้เรียนมีโอกาสเรียนซ้ำบทเรียนนั้นๆ ได้หลายครั้งเท่าที่ต้องการ
3. ผู้เรียนมีโอกาสโต้ตอบกับคอมพิวเตอร์และสามารถควบคุมการเรียนของตนเองได้
4. มีภาพ ภาพเคลื่อนไหว สี เสียง ทำให้ผู้เรียนไม่เบื่อหน่ายกับการเรียน
5. ผู้เรียนเป็นศูนย์กลางในการเรียนรู้
6. ช่วยให้ผู้เรียนสามารถเรียนได้ตามขั้นตอนจากง่ายไปยากหรือเลือกบทเรียนได้เอง
7. ฝึกให้ผู้เรียนฝึกคิดอย่างมีเหตุผล


การเล่าเรื่องด้วยระบบดิจิทัล (Digital Storytelling)

      การใช้ Digital Storytelling เป็นเครื่องมือในการเรียนรู้ที่ดีสำหรับผู้เรียน ในศตวรรษที่ 21 ที่มีความสนใจการใช้เทคโนโลยีอยู่แล้ว ผู้เรียนจะได้รับงานมอบหมายจากผู้สอนให้ค้นคว้าในหัวข้อที่ตนเองสนใจ และนำเสนอออกมาในรูปแบบการเล่าเรื่องผ่านสื่อดิจิทัล กิจกรรมเหล่านี้ เป็นการสร้างความสนใจ และแรงบันดาลใจให้กับผู้เรียนที่เป็น “Digital Native” ได้เป็นอย่างดี จากการที่ผู้เรียนต้องนำเสนอชิ้นงานออกมาในรูปแบบนี้ ผู้เรียนจะได้เห็นศักยภาพของตัวเองในการค้นหาข้อมูล เล่าเรื่องราว การวิเคราะห์ข้อมูล สังเคราะห์ข้อมูล และนำไปสู่การเพิ่มทักษะในการสื่อสาร การนำเสนอ การจัดระเบียบความคิด การคิดตั้งคำถาม และการทำงานเป็นทีมได้ดีอีกด้วย จะเห็นว่า ผู้เรียนสามารถสร้างองค์ความรู้ได้ด้วยตนเอง
Digital Storytelling ไม่ใช่แค่การผลิตคลิปวิดีโอหรือพัฒนาคนทำสื่อ แต่มีจุดประสงค์ให้ผู้เรียนจะได้มีโอกาสพัฒนาทักษะหลายๆ ด้านผ่านกระบวนการนี้ ให้มีโอกาสค้นคว้าและฝึกการเรียนรู้และหาคำตอบได้ด้วยตัวเอง การผลิตสื่อเป็นกิจกรรมที่ทำให้นักเรียนต้องมีความเข้าใจเนื้อหาและมีความสามารถในการที่จะเล่าออกมาให้คนเข้าใจได้ กระบวนการนี้ จะเปลี่ยนการเรียนรู้จากการที่ผู้เรียนเป็นผู้รับความรู้อย่างเดียว (Passive Learner) เป็นผู้เรียนที่มีส่วนร่วม (Active Learner) และสามารถที่จะสร้างเนื้อหาใหม่ที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อนได้ (Original Content)


ประเภทของแอพพลิเคชั่นที่ใช้สำหรับการเล่าเรื่องด้วยดิจิทัล  (Digital Storytelling)

  •  iMovie แอพพลิเคชั่นสำหรับการตัดต่อวิดีโอ ใช้สำหรับวิชาต่างๆ ได้ทั้งหมด ตัวอย่าง เช่น วิชาโครงงาน ผู้เรียนสามารถเก็บขั้นตอนงานต่างๆ ที่เกิดขึ้น และนำมาตัดต่อเป็นวิดีโอ เพื่อสรุปขั้นตอนการดำเนินงานต่างๆ ได้
  • Toontastic แอพพลิเคชั่นสำหรับการสร้างการ์ตูน สามารถดูวิดีโอเกี่ยวกับการใช้งานในแอพพลิเคชั่นนี้ได้ ตัวอย่าง เช่น วิชาภาษาอังกฤษ สามารถนำแอพพลิเคชั่นนี้ ไปใช้ให้เด็กฝึกสนทนาในสถานการณ์ต่างๆ ได้ สำหรับวิชาอื่นๆ ก็สามารถประยุกต์ใช้ในทำนองเดียวกันได้ สามารถฝึกให้ผู้เรียนได้สรุปองค์ความรู้ที่ตัวเองได้เรียนมาด้วยตนเอง
  • Adobe Spark Video แอพพลิเคชั่นสำหรับสร้างวีดิโอ ข้อมูลกราฟิกต่างๆ มีภาพ และเสียงประกอบ ทำเป็นวิดีโอรณรงค์สิ่งต่างๆ ได้ ผู้สร้างวิดิโอ อาจจะเป็นครูหรือผู้สอนที่ต้องการสร้างสื่อที่มีลักษณะหลากหลาย ทำให้ผู้เรียนเข้าใจได้ง่ายขึ้น หรือผู้สร้างวิดีโออาจจะเป็นผู้เรียนที่ใช้แอพพลิเคชั่นนี้ เพื่อสร้างชิ้นงานในการนำเสนอก็สามารถทำได้
  • Show me Interactive Whiteboard สำหรับการใช้แทนกระดานไวท์บอร์ด สามารถใส่รูปภาพ และอัดเสียงได้ ในขณะวาดรูป ในกรณีที่ใช้ขึ้น หน้าจอโปรเจ็กเตอร์ จะใช้แทนกระดานดำ หรือ กระดานไวท์บอร์ดได้เลย
  • Explain Everything™ VPP Interactive Whiteboard แอพพลิเคชั่นนี้ดีมาก ใช้สำหรับการอธิบายได้ทุกสิ่งอย่าง และยังมีฟีเจอร์ที่เสริมขึ้นมาอีก เช่น การที่เราสามารถทำงานร่วมกับผู้อื่นได้ด้วย แอพพลิเคชั่นนี้มีให้ทดลองใช้ฟรี 30 วัน
  • Doodlecast Pro Video Whiteboard ใช้สำหรับเป็นกระดานไวท์บอร์ด สามารถบันทึกภาพหรืออัดภาพหน้าจอที่เราต้องการได้อีกด้วย
  • Puppet pals HD แอพพลิเคชั่นสำหรับทำการ์ตูน สร้างเรื่องราวต่างๆ ผ่านรูปภาพ รูปวาด วิดีโอ หรือ Stop Motion ต่างๆ

อินเทอร์แอคทีฟมัลติมีเดีย (Interactive Multimedia)

                                         ความเป็นมาของ MULTIMEDIA

ในปัจจุบัน "มัลติมีเดีย" จัดว่าเป็นสื่ออีกชนิดหนึ่งที่ได้รับความนิยมใช้งานกันอย่างแพร่หลาย ไม่ว่าจะเป็นการนำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการต่างๆ (Product and Service Presentation) การเรียนการสอนผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ (E-Learning) และการนำเสนอผลงานต่างๆ (Task Presentation) ตลอดจนใช้เป็นสื่อบันเทิง (Entertainment) ทั้งในครัวเรือนและอุตสาหกรรม
มัลติมีเดีย MULTIMEDIA คือ ระบบการสื่อสารข้อมูลข่าวสารหลายชนิด โดยผ่านสื่อทางคอมพิวเตอร์ซึ่งประกอบด้วย ข้อความ ฐานข้อมูล ตัวเลข กราฟิก ภาพ เสียง และวีดิทัศน์ รวมถึงการใช้คอมพิวเตอร์สื่อความหมายโดยการผสมผสานสื่อหลายชนิด เช่น ข้อความ กราฟ ภาพศิลป์ (Graphic Art) เสียง (Sound) ภาพเคลื่อนไหว (Animation) และวีดิทัศน์ เป็นต้น ถ้าผู้ใช้สามารถควบคุมสื่อเหล่านี้ให้แสดงออกมาตามต้องการได้ระบบนี้จะเรียกว่า "มัลติมีเดียปฏิสัมพันธ์ (Interactive Multimedia)"
    อินเทอร์แอคทีฟมัลติมีเดีย (Interactive Multimedia) หมายถึง สื่อประสมที่สามารถโต้ตอบกับผู้ใช้ได้ โปรแกรมคอมพิวเตอร์สามารถจัดการกับข้อมูลภาพและเสียง ให้แสดงผลบนจอในลักษณะที่โต้ตอบกับผู้ใช้ได้ ไม่ใช่การแสดงผลรวดเดียวจบ (run through) แบบวีดิทัศน์หรือภาพยนตร์และไม่ใช่การสื่อสารทางเดียว (One-way Communication) คือ ผู้ชมเป็นผู้ดูฝ่ายเดียวอีกต่อไป ส่วนมากใช้คำว่า "สื่อประสมปฏิสัมพันธ์" เกี่ยวกับทางด้านเทคโนโลยีการศึกษา


สื่อประสมในการศึกษา
การใช้สื่อประสมในการศึกษาจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพ และประสิทธิผลในการเรียนการสอนได้เป็นอย่างมาก โดยใช้ในลักษณะของการสอนใช้คอมพิวเตอร์ (CAI) รูปแบบต่างๆ เช่น สถานการณ์จำลอง เกม การทบทวน ฯลฯ ซึ่งในปัจจุบัน มีผู้ผลิตบทเรียนลงแผ่นซีดีออกจำหน่ายมากมายหรือผู้สอนจะจัดทำบทเรียนเองได้โดยใช้โปรแกรมประยุกต์ต่างๆ ช่วยในการจัดทำ เพื่อให้ผู้เรียนฝึกการออกแบบ ทดสอบ และใช้วงจรนั้นได้ หรือแม้แต่เด็กนักเรียนในโรงเรียนประถมศึกษาก็สามารถใช้สื่อประสมในการเสนอเรียงความแก่ครูผู้สอนและเพื่อนร่วมในชั้นได้ เช่นกัน การใช้สื่อประสมในการศึกษาจะมีประโยชน์มากมายหลายด้าน เช่น
  •  ดึงดูดความสนใจ บทเรียนสื่อประสมในลักษณะสื่อหลายมิติที่ประกอบด้วย ภาพกราฟิก ภาพเคลื่อนไหวแบบวีดิทัศน์ และเสียง นอกเหนือไปจากเนื้อหาตัวอักษร จะดึงดูดความสนใจของผู้เรียนได้เป็นอย่างดี และช่วยในการสื่อสารระหว่างผู้สอนและผู้เรียนด้วย
  • การสืบค้นเชื่อมโยงฉับไวด้วยสมรรถนะของการเชื่อมโยงหลายมิติ ทำให้ผู้เรียนสามารถเรียนรู้ในสิ่งต่างๆ ได้กว้างขวาง และหลากหลายได้อย่างรวดเร็ว โดยไม่จำเป็นเรียนไปตามลำดับเนื้อหา
  •     การโต้ตอบระหว่างสื่อและผู้เรียน บทเรียนสื่อประสมจะมีจุดเชื่อมโยงหลายมิติ เพื่อให้ผู้เรียนและสื่อมีปฏิสัมพันธ์กันได้ในลักษณะสื่อประสมเชิงโต้ตอบได้รับสารสนเทศที่หลากหลาย โดยการใช้ซีดี และดีวีดี ในการให้ข้อมูลและสารสนเทศในปริมาณที่มากมายและหลากหลายรูปแบบเกี่ยวกับเนื้อหาบทเรียนที่สอน
  •      ทดสอบความเข้าใจ ผู้เรียนบางคนอาจจะไม่กล้าถามข้อสงสัยหรือตอบคำถามในห้องเรียน การใช้สื่อประสมจะช่วยแก้ปัญหาในสิ่งนี้ได้ โดยการใช้ในลักษณะการศึกษารายบุคคล สนับสนุนความคิดรวบยอด สื่อประสมสามารถแสดงสารสนเทศ เพื่อสนับสนุนความคิดรวบยอดของผู้เรียน โดยการเสนอสิ่งที่ให้ตรวจสอบย้อนหลัง และแก้ไขจุดอ่อนในการเรียน



ตัวอย่างการสร้างบทเรียนอินเตอร์แอคทีฟแบบมีปฎิสัมพันธ์ โดยใช้โปรแกรม PowerPoint




การเรียนการสอนผ่านเว็บ

การเรียนการสอนผ่านเว็บ (Web-Based Instruction) หมายถึง การเรียนการสอนที่ใช้
เวิลด์ไวด์เว็บ (World Wide Web: WWW.)” เป็นสื่อหรือตัวกลาง ในการเรียนการสอนร่วมกันระหว่างผู้สอนกับผู้เรียน 
ในลักษณะของบทเรียนที่ประกอบด้วย เนื้อหา รูปภาพประกอบ เสียง และภาพเคลื่อนไหว ผู้สอนและผู้เรียนสามารถใช้เว็บเพจ ในการอภิปรายแลกเปลี่ยนความคิดเห็น สืบค้น ตอบปัญหา ทำแบบฝึกหัด ข้อสอบ และกิจกรรมการเรียนการสอนผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ตได้จากจุดเชื่อมต่อเครือข่ายและการเชื่อมต่อระยะไกลผ่านโมเด็มโดยไม่จำกัดเวลาและสถานที่ เพื่อสร้างเสริมสิ่งแวดล้อมแห่งการเรียนในมิติที่ไม่มีขอบเขตจำกัดด้วยระยะทางและเวลาที่แตกต่างกันของผู้เรียน (Learning Without Boundary)
     เวิลด์ไวด์เว็บ (World Wide Web: WWW.) เป็นบริการบนเครือข่ายอินเทอร์เน็ตซึ่งได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน เริ่มเข้ามาเป็นที่รู้จักในวงการศึกษาในประเทศไทยตั้งแต่ พ.ศ. 2538 ที่ผ่านมาเว็บได้เข้ามามีบทบาทสำคัญทางการศึกษาและ กลายเป็นคลังแห่งความรู้ที่ไร้พรมแดน ซึ่งผู้สอนได้ใช้เป็นทางเลือกใหม่ในการส่งเสริมการเรียนรู้เพื่อเปิดประตูการศึกษาจากห้องเรียนไปสู่โลกแห่งการเรียนรู้อันกว้างใหญ่ รวมทั้ง การนำการศึกษาไปสู่ผู้ที่ขาดโอกาส ด้วยข้อจำกัดทางด้านเวลาและสถานที่ (ถนอมพร เลาหจรัสแสง.2544)
   

      การเรียนการสอนผ่านเว็บ (Web-Based Instruction) คือ การใช้เว็บเพื่อการเรียนการสอนเป็นการนำเอาคุณสมบัติของอินเทอร์เน็ต มาออกแบบเพื่อใช้ในการศึกษา การจัดการเรียนการสอนผ่านเว็บ (Web-Based Instruction) มีชื่อเรียก หลายลักษณะ เช่น การจัดการเรียนการสอนผ่านเว็บ (Web-Based Instruction), เว็บการเรียน (Web-Based Learning), เว็บฝึกอบรม (Web-Based Training), อินเทอร์เน็ตฝึกอบรม (Internet-Based Training), อินเทอร์เน็ตช่วยสอน (Internet-Based Instruction), เวิลด์ไวด์เว็บฝึกอบรม (WWW-Based Training), และเวิลด์ไวด์เว็บช่วยสอน (WWW-Based Instruction) (สรรรัชต์ ห่อไพศาล.2545)
 
ประโยชน์ของการเรียนการสอนผ่านเว็บ 
1. ช่วยให้การจัดการเรียนการสอนมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
2. ช่วยทำให้ผู้สอนสามารถตรวจสอบความก้าวหน้าพฤติกรรมการเรียนของผู้เรียนได้อย่างละเอียดและตลอดเวลา
3. ช่วยให้ผู้เรียนสามารถควบคุมการเรียนของตนเอง
4. ช่วยทำให้ผู้เรียนสามารถเรียนรู้ได้ตามจังหวะของตน (Self-paced-Learning)
5. ช่วยทำให้เกิดปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้เรียนกับครูผู้สอนและกับเพื่อนๆ ได้
6. ช่วยส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้ทักษะใหม่ๆ รวมทั้งเนื้อหาที่มีความทันสมัยและตอบสนองต่อเรื่องราวต่างๆ ในปัจจุบันได้อย่างทันที
7. ทำให้เกิดรูปแบบการเรียนที่สามารถจัดการเรียนการสอนให้แก่ผู้เรียนในวงกว้างขึ้น
8. ทำให้สามารถลดต้นทุนในการจัดการศึกษานั้นๆ ได้

ตัวอย่างขั้นตอนการออกแบบเว็บเพื่อการเรียนการสอน






เว็บเควสท์ (WebQuest)



เว็บเควสท์  (WebQuest)  เป็นกิจกรรมการเรียนการสอนที่เน้นการแสวงหาความรู้โดยใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเป็นฐาน ผู้สอนไม่ได้ทำหน้าที่ถ่ายทอดความรู้แก่ผู้เรียนแต่ฝ่ายเดียว แต่ผู้สอนจะทำหน้าที่เป็นผู้จัดกลุ่ม เรียบเรียงและลำดับความรู้ต่างๆ ให้อำนวยความสะดวกแก่ผู้เรียนในการเข้าถึงความรู้นั้นๆ อย่างเป็นระบบ เป็นขั้นตอน โดยใช้ปัญหาเป็นฐานในการเรียนรู้

         ลักษณะของเว็บเควสท์ที่สำคัญ  คือ  แสดงเพียงโครงร่างเนื้อหาเป็นกรอบของความรู้ที่ผู้เรียนต้องศึกษาหรือควรจะศึกษา ไม่ได้มุ่งแสดงเนื้อหารายละเอียดของความรู้นั้นๆ ที่ชี้ชัดเจนลงไปโดยตรง เช่น การเปรียบเทียบระหว่างบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอนกับวิธีการของเว็บเควสท์ ดังตารางต่อไปนี้


บทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอน
วิธีการของเว็บเควสท์


  • บทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอนทั่วๆ ไป  ที่ผู้ออกแบบได้ระบุเนื้อหาเฉพาะเพียงกรอบของวัตถุประสงค์เชิงพฤติกรรมที่ต้องการเท่านั้น


  • ในการเข้าสู่เนื้อหาความรู้ต่างๆได้ โดยใช้ตัวเชื่อมโยงบนหน้าเว็บเพจหลักของกรอบโครงสร้าง เนื้อหาหลักที่ผู้ออกแบบจัดกลุ่ม เรียบเรียง และลำดับดังที่กล่าวไว้แล้วนั้น เชื่อมโยงไปยังแหล่งความรู้อื่นๆ ในเว็บไซต์อื่นที่ผู้สอนหรือผู้ออกแบบพิจารณาเห็นว่ามีเนื้อหาสอดคล้องกับ วัตถุประสงค์ที่ต้องการให้เกิดแก่ผู้เรียน


การเรียนโดยใช้กิจกรรมแบบเว็บเควสท์ 

มีทั้งหมด 6 ขั้นตอน ดังนี้ 

  1. ขั้นนำ (Introduction)
   2. ขั้นภารกิจ (Task)
   3. ขั้นกระบวนการ (Process) 
   4. ขั้นชี้แหล่งความรู้ (Resources)
   5. ขั้นประเมินผล (Evaluation) 
   6. ขั้นสรุป (Conclusion)
        
           ในการเรียนด้วยวิธีการของเว็บเควสท์จะต้องเรียนผ่านทุกกิจกรรม เพราะทุกกิจกรรมมีความสำคัญในการเรียน ถ้าเรียนไม่ครบจะไม่สามารถสรุปเนื้อหาบทเรียนได้เลย ก่อนเรียนควรทำแบบทดสอบก่อนเรียน เพื่อวัดความรู้เมื่อเรียนครบทุกกิจกรรมและควรทำแบบทดสอบหลังเรียนเพื่อวัดความรู้หลังเรียน



ข้อดี-ข้อเสียของการเรียนรู้ผ่านเว็บเควสท์


  • ข้อดี : ผู้เรียนสามารถศึกษาค้นคว้าได้ด้วยตนเองอย่างมีลำดับขั้นตอน ซึ่งเป็นการฝึกให้ผู้เรียนเรียนรู้ได้เต็มศักยภาพ และเป็นการฝึกให้ผู้เรียนค้นคว้าและติดตามเนื้อหาที่ลึกลงไป ทำให้สะดวกต่อการประเมินผลรายบุคคล
  • ข้อเสีย : ลักษณะของเว็บเควสท์จะแสดงเพียงโครงร่างเนื้อหาเป็นกรอบของความรู้ที่ผู้เรียนต้องหรือควรที่จะศึกษา ไม่ได้มุ่งแสดงเนื้อหารายละเอียดของความรู้นั้นๆ ที่ชี้ชัดเจนลงไปโดยตรง


ตัวอย่างการนำเว็บเควสท์มาประยุกต์ใช้กับการเรียนการสอนในชั้นเรียน




ดิจิทัลวิดีโอ (Digital Video)

ดิจิทัลวิดีโอ (Digital Video)

คือ รูปแบบการบันทึกวิดีโอในที่ทำงาน โดยใช้สัญญาณดิจิทัล (Digital) แทนการใช้สัญญาณอนาล็อก (Analog) โดยมีการบันทึก ดัดแปลง จัดเก็บวิดีโอด้วยรหัสทางดิจิทัล แทนการใช้ฟิล์มเป็นสื่อ ซึ่งเครื่องมือที่ใช้ในการบันทึกนั้น เป็นกล้องวิดีโอ และมีการใช้เทปในการบันทึก เรียกว่า เทป DV (Digital Video) หรือการใช้สื่ออื่นๆ เช่น ดีวีดี (DVD) หรือ ฮาร์ดดิสก์ (Hard Disk) เป็นต้น การที่เปลี่ยนแปลงเป็นสื่อดิจิทัล (Digital) ทำให้เกิดความสะดวกสบายต่อการทำงานเป็นอย่างมาก ทั้งในด้านการตัดต่อ การจัดเก็บ และการเผยแพร่


ประเภทของวิดีโอ

วิดีโอที่ใช้งานอยู่ในปัจจุบันสามารถแบ่งได้เป็น 2 ประเภท คือ

·      วิดีโออนาลอก (Analog Video) เป็นวีดีโอที่ทำการบันทึกข้อมูลภาพและเสียงให้อยู่ในรูปของสัญญาณอนาลอก (รูปของคลื่น) สำหรับวีดีโอประเภทนี้ เช่น VHS (Video Home System) ซึ่งเป็นม้วนเทปวีดีโอที่ใช้ดูกันตามบ้าน เมื่อทำการตัดต่อข้อมูลของวีดีโอชนิดนี้ อาจจะทำให้คุณภาพลดน้อยลง
·      วีดีโอดิจิตอล (Digital Video) เป็นวีดีโอที่ทำการบันทึกข้อมูลภาพและเสียงที่ได้มาจากกล้องดิจิตอล ให้อยู่ในรูปของสัญญาณดิจิตอล คือ 0 กับ 1 ส่วนการตัดต่อข้อมูลของภาพและเสียงที่ได้มาจากวีดีโอดิจิตอลนั้น จะแตกต่างจากวีดีโออนาล็อก เพราะข้อมูลที่ได้จะยังคงคุณภาพความคมชัดเหมือนกับข้อมูลต้นฉบับ การพัฒนาของวีดีโอดิจิตอลส่งผลให้วีดีโออนาล็อกหายไปจากวงการมัลติมีเดีย เนื่องจากสัญญาณดิจิตอลสามารถที่จะบันทึกข้อมูลลงบนฮาร์ดดิสก์ ซีดีรอม ดีวีดี หรืออุปกรณ์บันทึกข้อมูลอื่นๆ และสามารถแสดงผลบนคอมพิวเตอร์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ


การผลิตวีดีโอ

1. การวางแผน เป็นการกำหนดเรื่องราวที่จะถ่ายทำว่าต้องการถ่ายทำเรื่องใด และกำหนดความยาวของเรื่องเพื่อที่จะได้เตรียมอุปกรณ์ต่างๆ ให้พร้อม
2. การถ่ายทำ เป็นการบันทึกภาพเคลื่อนไหว ภาพนิ่งหรือเหตุการณ์สำคัญต่างๆ ที่ผู้ผลิตต้องการจะถ่ายทำเพื่อจะได้นำข้อมูลนั้นเก็บไว้
3. แคปเชอร์ (Capture) เป็นการถ่ายโอนข้อมูลที่เป็นภาพอย่างเดียว หรือทั้งภาพและเสียงที่ได้จากเทปวีดีโอ (VHS) มาบันทึกลงในฮาร์ดดิสก์ของเครื่องคอมพิวเตอร์ โดยทำการจัดเก็บเป็นไฟล์ .AVI หลายๆ ไฟล์ ซึ่งจะทำให้ได้ข้อมูลที่สมบูรณ์ และสามารถนำไฟล์ .AVI นี้ไปใช้ในการตัดต่อภาพได้
4. การตัดต่อ เป็นการนำไฟล์หลายๆ ไฟล์ที่จัดเก็บอยู่ในเครื่องคอมพิวเตอร์มาเรียงต่อกัน โดยทำการเลือกภาพและเสียงที่ต้องการ จากนั้นจึงทำการตกแต่งภาพ โดยการเพิ่มเติมข้อมูลต่างๆ  เช่น สีสัน ความสวยงาม ข้อความ เพิ่มความเร็วหรือลดความเร็วในการแสดงภาพเคลื่อนไหว ลดเหลี่ยมของภาพ หรือจะทำการปรับเปลี่ยนความยาวของข้อมูลก็ได้ เช่น การตัดต่อวีดีโอด้วย Adobe Premiere ปัจจุบันการตัดต่อวีดีโอด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์จะได้งานที่มีคุณภาพดีกว่า เนื่องจากสามารถเพิ่มเทคนิคพิเศษ ปรับแต่งภาพให้สวยงามได้ จึงได้รับความนิยม แต่ผู้ที่ต้องการตัดต่ออย่างมืออาชีพต้องไม่ลืมว่างบประมาณในการเตรียมอุปกรณ์ตัดต่อนั้นมีราคาแพง หากจะทำการตัดต่อเพื่อเพิ่มความรู้ ควรใช้อุปกรณ์ที่มีราคาเหมาะกับงานที่จะทำ เพื่อป้องกันความสิ้นเปลืองโดยเปล่าประโยชน์
5. การจัดทำสื่อประสม เป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้จาการตัดต่อวีดีโอด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์ โดยนำผลิตภัณฑ์ที่ได้มาทำการเก็บบันทึกให้อยู่ในรูปของไฟล์ต่างๆ เทปวีดีโอ แผ่นวีซีดี หรือแผ่นดีวีดี ซึ่งเป็นสื่อที่นิยมมากในปัจจุบัน เพื่อจะได้เก็บผลิตภัณฑ์ต่างๆ เหล่านั้นไว้ หรือนำออกมาเพื่อเผยแพร่



รูปแบบการบันทึกข้อมูล

        ภาพวีดีโอที่ได้จาการบันทึกข้อมูลด้วยกล้องวีดีโอ หรือวีดีโอคลิป ที่ทำการบันทึกด้วยเครื่องบันทึก สามารถนำเข้าภาพได้เพียงบางส่วนเท่านั้น แต่หากทำการบันทึกด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์จะสามารถบันทึกข้อมูลได้หลายรูปแบบดังนี้
  • S-VHS (Super Video Home System) เป็นรูปแบบวีดีโอที่มีคุณภาพ มีความละเอียดสูงกว่า VHS เนื่องจากข้อมูลสีและความสว่าง สามารถจะแยกการบันทึกออกเป็น 2 แทร็กได้ เพื่อให้ง่ายต่อการปรับปรุงคุณภาพของการแสดงผลให้ดีขึ้น นอกจากนี้ยังสามารถแพร่ภาพความถี่ต่ำได้อีกด้วย โดยปกติแล้วเทป S-VHS ต้องใช้กับเครื่องเล่น S-VHS จะทำให้ได้ภาพที่มีความคมชัดเพิ่มมากขึ้นเมื่อเล่นกับโทรทัศน์ที่มีความละเอียดสูง และหากผู้ผลิตต้องการมัลติมีเดียที่แพร่ภาพผ่านสถานีโทรทัศน์ก็ไม่ควรเลือกการจัดเก็บรูปแบบนี้
  • YUV หรือ YUV 4:2:2 เป็นรูปแบบของสัญญาณวีดีโอพื้นฐานโดยที่ Y คือ ค่าความสว่าง U คือ ค่าสีแดงลบค่าความสว่าง V คือ ค่าสีน้ำเงินลบค่าความสว่าง (ขนาดของข้อมูลเล็กกว่า 3 เท่า) ในการเก็บบันทึกและการแสดงผลวีดีโอลงบนจอภาพนั้น จะต้องแปลงข้อมูล YUV ให้เป็น RGB ก่อนเสมอ

ซอฟต์แวร์ที่ใช้ในการผลิตวีดีโอ

·          Macromedia Flash MX โปรแกรมสำหรับสร้างงานอนิเมชั่น มัลติมีเดีย งานอินเทอร์เอคทีฟ และรองรับงานออนไลน์ต่าง ๆ
·         Ulead Video Studio เป็นโปรแกรมตัดต่อวีดีโอ Capture ภาพ ที่นำสัญญาณผ่านเข้ามาสามารถตัดต่อวีดีโอให้อยู่ในฟอร์แมต MPEG I, MPEG II, DV และ VCD ได้ 
·         Adobe Photoshop CS โปรแกรมสำหรับตกแต่งรูปภาพ
·         Windows Movie Maker โปรแกรมสำหรับใช้ในการตัดต่อภาพ เป็นมัลติมีเดียสตรีมมิ่งทั้งภาพและเสียงที่ได้จากการตัดต่อวีดีโอ และสามารถนำเข้าไฟล์ไม่ว่าจะเป็น *.avi, *.afs, *.MPEG, *.MPG, *.MPA เป็นต้น
·         VirtualDub เป็นโปรแกรมที่ช่วยใส่ Feeling ต่างๆ ให้แก่ภาพ ช่วยในการลดเม็ดสีที่คล้ายเม็ดหิมะที่เกิดจากการตัดต่อภาพจาก TV หรือ TV จูนเนอร์ และสามารถทำการบีบอัดข้อมูลได้
·         TMPGEnc หรือทีเอ็มเพ็ค 2 เป็นโปรแกรมที่ใช้ในการดัดแปลงไฟล์ VDO แบบ *.avi ให้เป็น *.MPEG ได้สามารถใช้โปรแกรม TMPGEnc ร่วมกับ VirtualDub ได้
·         Cyberlink Videolive Mail เป็นโปรแกรมที่สามารถปรับแต่งภาพ และสนับสนุนการรับชมรายการโทรทัศน์ วีดีโอ และบันทึกรายการโทรทัศน์หรือวีดีโอที่รับชมได้
·         Flash เป็นโปรแกรมสำหรับพัฒนางานรูปแบบต่างๆ เช่น งานวีดีโอ งานมัลติมีเดีย งานเว็บแอพพลิเคชั่น ระบบ E-Learning  และระบบแอพพลิเคชั่นขนาดใหญ่

คุณภาพของวีดีโอ 

การวัดคุณภาพของวีดีโอสามารถวัดได้จาก อัตราเฟรม และความละเอียดของภาพ
·         อัตราเฟรม (Frame Rate) คือ อัตราความถี่ในการแสดงภาพจาก Timeline ออกทางหน้าจอ อัตราที่เฟรมถูกแสดงในวีดีโอมีหน่วยเป็นเฟรมต่อวินาที (FPS ย่อมาจาก Frame Per Second เป็นหน่วยวัดปริมาณข้อมูลที่ใช้ในการเก็บบันทึกและแสดงวีดีโอ นอกจากนี้ยังสามารถแสดงเฟรมให้มีความต่อเนื่องในเวลาอันรวดเร็ว) โดยผู้จัดทำสามารถที่จะกำหนดอัตราเฟรมเองได้ เช่น อัตราเฟรมของภาพยนตร์เท่ากับ 24 fps อัตราเฟรมโทรทัศน์ระบบPAL เท่ากับ 25 fps และอัตราเฟรมโทรทัศน์ระบบ NTSC เท่ากับ 30 fps
·         ความละเอียด (Resolution) หมายถึง ความคมชัดของภาพที่แสดงผลออกทางจอภาพ ความละเอียดของจอภาพขึ้นอยู่กับจำนวนจุดทั้งหมดที่เกิดบนจอ จุดต่างๆ นี้ เรียกว่า พิกเซล (Pixel)  นอกจากนี้ภาพที่มีขนาดเท่ากัน บางครั้งก็อาจจะมีความละเอียดที่ต่างกันได้ เนื่องจากจำนวนพิกเซลต่างกันจะส่งผลให้ขนาดของพิกเซลต่างกันด้วย ยิ่งความละเอียดของจอภาพสูงจะยิ่งทำให้มองเห็นพื้นที่ใช้งานบนจอกว้างมากขึ้น แต่จะทำให้มีขนาดเล็กลง

ตัวอย่างการทำสื่อดิจิทัลวิดีโอ